วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


1. บ่อหมักสิ่งปฏิกูล วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี
ความเป็นมา จากกระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2544 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลว่า “สิ่งโสโครกจากบ้านเรือนที่ให้เทศบาลสูบไป มักนำไปปล่อยลงคลอง ลงแม่น้ำ ถ้าหาที่แห่งหนึ่งนอกเมือง ทำถังหมักสิ่งโสโครกไว้ 10 วัน สิ่งที่เป็นสิ่งโสโครกก็หายโสโครกเชื้อโรคอะไรก็หมดไป ถ้าให้ดีเอาไว้ 28 วัน ให้มันจริงๆจังๆ พวกเชื้อที่ร้ายแรงที่ยังมีอยู่ก็หมด แม้แต่กลิ่นก็หายหมด เสร็จแล้วเอามาตากใช้ประโยชน์ได้ ทั้งส่วนที่เป็นของแข็งและส่วนที่เป็นน้ำเป็นปุ๋ยที่ไม่เหม็น เทศบาลต่างๆ ที่มีปัญหานี้ก็ต้องพยายามพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป”จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น จังหวัดนนทบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น นายสาโรจน์ คัชมาตย์ จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำแนวทางตามโครงการ พระราชดำริฯ มาดำเนินการต่อไปด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแก้ปัญหาการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ยังไม่ถูก สุขลักษณะอันเป็นสาเหตุ ของปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 นนทบุรี ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีให้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างบ่อหมักสิ่งปฏิกูลตามแนวพระราชดำริ ขนาดความจุ 15 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 32 บ่อ ณ วัดสวนแก้ว จ. นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 5 ไร่ ขณะนี้การก่อสร้างได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว วัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดสิ่งปฏิกูล โดยการหมักด้วยขบวนการไม่ใช้ออกซิเจน ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อใน ระบบทางเดินอาหารและพยาธิ แล้วนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ทำปุ๋ยสำหรับการเกษตร บ่อหมักสิ่งปฏิกูล บ่อหมักสิ่งปฏิกูล คือ บ่อที่สร้างขึ้นสำหรับกักเก็บสิ่งปฏิกูลจากรถดูดส้วมนำมาใส่ไว้ เพื่อให้เกิด การย่อยสลาย โดยแบคทีเรียตามธรรมชาติ การกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยอาศัยขบวนการหมักย่อย สลายในถังปิดโดยไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ซึ่งเติมครั้งเดียว (Batch Type Culture) ซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัยตามพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2523 ที่จังหวัดนนทบุรี โดยมี หน่วยงานสนองพระราชดำริ คือ กรมอนามัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงพยาบาลบำราศนราดูร ผลการวิจัยทำให้ได้ระบบบำบัดที่นำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ถูกลักการสุขาภิบาลและมีผลได้คือ น้ำและกากนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ การก่อสร้างบ่อสิ่งปฏิกูล การก่อสร้างเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2545 โดยการปรับพื้นที่สร้างถนน และตอกเสาเข็ม ทำฐานรากบ่อหมักและส่วนประกอบของระบบบำบัดที่สำคัญดังนี้1. ถังหมักย่อยสลาย เป็นถังคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 32 ถัง แต่ละถังมีความจุประมาณ 15 ลูกบาศก์เมตร เป็นรูปถังสี่เหลี่ยมมีความกว้าง 2.5 เมตร ยาว 4.50 เมตร สูง 1.5 เมตร หนา 0.1 เมตร มีท่อพี.วี.ซี.(PVC) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว อยู่ที่ก้นถังด้านข้างเพื่อใช้เป็นท่อระบายน้ำและตะกอนซึ่งมีประตูน้ำเปิด - ปิด บนถังหมักย่อยสลายมีช่องคนลงขนาด0.5 x 0.5 ตารางเมตร พร้อมฝาปิด และมีท่อระบายอากาศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว สูง 0.30 - 0.50 เมตร2. ลานตากตะกอน เป็นลานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูน ขนาดกว้างประมาณ 5.00 เมตร ยาว 6.70 เมตร สูง1.00 เมตร แบ่งเป็นช่องๆ ขนาด 16 ช่อง ใช้สำหรับตากสิ่งปฏิกูลที่ผ่านการหมักจากถังหมักย่อยสลายแล้ว ภายในลานตากชั้นล่างจะบรรจุหินย่อยให้มีความหนาของชั้นหิน3. บ่อเก็บน้ำ หลังจากปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่ลานทรายกรอง ส่วนที่เป็นน้ำจะไหลผ่านชั้นทราย และ ไปเก็บรวบรวมไว้ที่บ่อเก็บน้ำ น้ำที่ออกมาจะเป็นปุ๋ยน้ำและสามารถนำไปใช้ ประโยชน์รดน้ำต้นไม้หรือสวนสาธารณะ4. โรงเก็บปุ๋ย หลังจากที่ตากตะกอนที่ลานตากตะกอนจนแห้งแล้ว รวบรวมนำมาเก็บไว้ที่โรงเก็บปุ๋ย เพื่อจะได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อไป5. ที่พักคนงาน ไว้สำหรับเป็นที่พักคนงาน ทำความสะอาด และดูแลรักษาระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล ให้มีอายุใช้งานได้นาน และมีประสิทธิภาพ ผลที่คาดว่าจะได้รับการกำจัดสิ่งปฏิกูลตามโครงการพระราชดำริฯ มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการกำจัด สิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักสุขาภิบาล เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานสาธารณสุขของประเทศ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการป่วยและพยาธิลำไส้ลดน้อยลง ลดการสูญเสียของประเทศจากการที่รัฐจะต้องใช้จ่ายงบประมาณในการสร้างโรงพยาบาล ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารและโรคพยาธิลำไส้ ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษา พยาบาล ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ ในทางกลับกันหากประชาชนมีสุขภาพดี จะสามารถประกอบอาชีพมีรายได้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำสิ่งปฏิกูลมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดภัย ทำให้ประเทศสามารถ ประหยัดเงินในการสั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศได้จำนวนมาก ส่วนปุ๋ยจากกากสิ่งปฏิกูลที่ผ่านการหมักย่อยสลาย ช่วยทำให้คุณภาพของดินดีขึ้น «กลับสู่ด้านบน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น